ขั้นตอนต่อทะเบียนรถยนต์ เรื่องง่ายๆ ที่คุณก็ทำได้

หลายคนสงสัยว่าการต่อทะเบียนรถประจำปีทำอย่างไร ต้องจ่ายเท่าไร ทำที่ไหนได้บ้าง ลองดู 4 ขั้นตอนง่ายๆ สำหรับมือใหม่หัดต่อทะเบียนรถยนต์มาบอก ดังนี้

  1. เตรียมเอกสารให้พร้อม
  2. คำนวณเงินที่ต้องจ่าย
  3. การขอใบตรวจสภาพรถ (ตรอ.) กรณีรถเกิน 7 ปี
  4. เลือกช่องทางต่อทะเบียนรถที่สะดวกที่สุด

รู้ก่อนต่อทะเบียนรถ

“การต่อทะเบียนรถยนต์” หรือ “การต่อภาษีรถยนต์” เป็นเรื่องที่กฏหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำทุกปี โดยคุณสามารถต่อก่อนล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน แต่ถ้าคุณลืมหรือไปต่อล่าช้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ…

  • การต่อทะเบียนล่าช้าต้องเสียค่าปรับ 1% ต่อเดือนของค่าต่อทะเบียน
  • ถ้าขาดต่อทะเบียนเกิน 3 ปี รถของคุณจะถูกระงับการใช้งานทันที ต้องไปเสียค่าปรับย้อนหลังและทำเรื่องจดทะเบียนรถใหม่
  • ขาดต่อทั้งทะเบียนและ พ.ร.บ. ถูกปรับ 20,000 บาท
    • รถไม่มี พ.ร.บ. มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
    • ใช้รถไม่จดทะเบียนมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
    • ใช้รถที่ไม่แสดงเครื่องหมายเสียภาษีมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ขั้นตอนที่ 1 เอกสารที่ต้องใช้ในการต่อทะเบียน

1. สำเนาสมุดทะเบียนรถ

2. หลักฐานการทำ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่ยังไม่หมดอายุ

3. ใบรับรองการตรวจสภาพรถ (สำหรับรถยนต์ที่จดทะเบียนมาแล้ว 7 ปีขึ้นไป) หรือที่เรียกว่า ตรอ.ซึ่งจะมีป้ายติดอยู่ตามอู่รถทั่วไป

 

ขั้นตอนที่ 2 รู้ก่อนจ่าย… รถของคุณต้องเสียภาษีเท่าไร

อัตราการเสียภาษีรถขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ประเภทรถ รุ่นรถ ขนาดเครื่องยนต์ (ซีซี) น้ำหนักรถ หรืออายุรถ มาลองดูกันซิว่ารถของคุณต้องเสียภาษีประจำปีละเท่าไร

1. รถป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือดำ คือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง การคำนวณภาษีจะขึ้นอยู่กับขนาดเครื่อง (cc) รถ (0.5-1.5 บาท/cc) ส่วนรถที่อายุการใช้งานเกิน 6 ปี ลดให้ 10% ขึ้นไป (ดูตาราง)

ตัวอย่างการคำนวณ
รถยนต์ ยี่ห้อ BMW รุ่น 330 อายุรถ 4 ปี เครื่องยนต์ 2,979 cc
1. 600 cc แรก cc ละ 0.5 บาท = 600×0.5 = 300 บาท
2. 601-1800 cc ละ 1.50 บาท = (1,800-600) = 1200 x 1.50 = 1,800 บาท
3. เกิน 1800 cc ละ 4 บาท = (2,979 – 1,800) x 4 = 1179 x 4.00 = 4,716 บาท
รวมค่าภาษี
รวมทั้งหมด 300 + 1,800 + 4,716 บาท = 6,816 บาท
*หากเสียภาษีช้าต้องเสียค่าปรับ 1% ต่อเดือน (เศษของวันนับเป็น 1 เดือน)

อัตราภาษีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน
เก็บตามความจุกระบอกสูบ (ซีซี) บาท
1. ความจุกระบอกสูบ
1.1 600 ซีซี ๆ ละ 0.05
1.2 601 – 1,800 ซี.ซี. ๆ ละ 1.50
1.3 เกิน 1,800 ซี.ซี. ๆ ละ 4.00
2. เป็นนิติบุคคลที่มิได้เป็นผู้ให้เช่าซื้อ 2 เท่า
3. เป็นรถเก่าใช้มานานเกิน 5 ปี ให้ลดภาษี ร้อยละ
3.1 ปีที่ 6 10
3.2 ปีที่ 7 20
3.3 ปีที่ 8 30
3.4 ปีที่ 9 40
3.5 ปีที่ 10 และปีต่อๆ ไป 50
4. เป็นรถที่ใช้ล้ออย่างอื่น นอกจากล้อยางกลวง เพิ่มอีก 1/2

2. รถป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือเขียว คือรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่เกิน 7 ที่นั่ง การคำนวณภาษีจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักรถ ดังนี้

น้ำหนักรถ/กิโลกรัม อัตราภาษี
501- 750 450 บาท
751 – 1000 600 บาท
1001 – 1250 750 บาท
1251 – 1500 900 บาท
1501 – 1750 1,050 บาท
1751 – 2000 1,350 บาท
2001 – 2500 1,650 บาท

3. รถป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือสีน้ำเงิน คือรถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง การคำนวณภาษีจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักรถ ดังนี้

น้ำหนักรถ/กิโลกรัม อัตราภาษี
ไม่เกิน 1800 1,300 บาท
เกิน 1800 1,600 บาท

– กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์เป็นก๊าซ CNG/LPG จะต้องขอเอกสารรับรองการตรวจสภาพรถประจำปีตัวจริงไปด้วยค่ะ

ขั้นตอนที่ 3 สำรวจว่ารถคุณอยู่ในกลุ่มต้องตรวจสภาพรถหรือไม่

การตรวจสภาพรถเพื่อให้ได้ใบตรวจสภาพรถยนต์ (ตรอ.) ที่ใช้รับรองสภาพการใช้งานของรถยนต์ ณ ปัจจุบัน ว่าสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ เพื่อประกอบการเสียภาษีประจำปีสำหรับรถที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปี (โดยนับจากวันจดทะเบียน) ต้องนำรถไปดำเนินการเข้าตรวจสภาพที่ สถานตรวจสภาพรถเอกชน ที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งคุณสามารถสังเกตเครื่องหมาย ที่มีคำว่า “สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.)” ได้ค่ะ

รถประเภทใด ต้องไปตรวจสภาพรถ

  1. รถยนต์ที่มีการใช้งานเกิน 7 ปีขึ้นไป และรถจักรยานยนต์ที่มีการใช้งานเกิน 5 ปีขึ้นไป
  2. เจ้าของสามารถนำรถไปตรวจสภาพล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนถึงวันสิ้นอายุภาษีประจำปี
  3. ราคาค่าตรวจ
    • รถจักรยานยนต์ คันละ 60 บาท
    • รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 2,000 กิโลกรัม คันละ 200 บาท
    • รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 2,000 กิโลกรัม คันละ 300 บาท

ข้อยกเว้น! รถต่อไปนี้ไม่สามารถตรวจสภาพรถที่ ตรอ. ได้ ต้องไปที่กรมการขนส่งเท่านั้น

  1. รถที่ดัดแปลงสภาพใหม่ เช่น เปลี่ยนสีหรือตัวถังใหม่
  2. รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์จางหายหรือมองไม่ชัด
  3. รถที่เจ้าของได้แจ้งไม่ใช้งาน
  4. รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับการถูกโจรกรรมแล้วได้คืน
  5. รถที่ขาดต่อทะเบียนเกิน 1 ปี

ขั้นตอนที่ 4 เลือกไปต่อทะเบียน-พ.ร.บ. ที่ไหนดี

ช่องทางการต่อ
ทะเบียนรถยนต์
ข้อมูลเปรียบเทียบ
อายุรถ เวลาทำการ วิธีชำระเงิน
กรมการขนส่งทางบก ไม่จำกัด เวลาราชการ เฉพาะเงินสด
ที่ทำการไปรษณีย์ ไม่จำกัด เวลาราชการ เฉพาะเงินสด
ห้างบิ๊กซี
(เฉพาะ 13 สาขา)
ไม่จำกัด เสาร์-อาทิตย์ เฉพาะเงินสด
เคาน์เตอร์เซอร์วิส ไม่จำกัด 24 ชม. เฉพาะเงินสด
ไฟแนนซ์ ไม่จำกัด แล้วแต่บริษัท เฉพาะเงินสด
เว็บไซต์ของกรมการขนส่ง ไม่เกิน 7 ปี 24 ชม. เงินสดและบัตรเครดิต
เว็บไซต์ SILKSPAN.COM ไม่เกิน 7 ปี 24 ชม. เงินสดและบัตรเครดิต (ฟรีค่าธรรมเนียม)

ช่องทางการต่อทะเบียนเหล่านี้มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะสะดวกเลือกวิธีไหน แต่ไม่ว่าจะเลือกช่องไหนคุณก็ควรศึกษาข้อมูลการต่อทะเบียนรถล่วงหน้า อย่างน้อย 3 เดือน พร้อมกับเตรียมเอกสารและเงินที่ต้องจ่ายให้เรียบร้อย เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และไม่พลาดการต่อทะเบียนรถยนต์ประจำปีค่ะ